รับทำบัญชี การข้อควรรู้ในการจัดทำบัญชีให้กับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วน

การเริ่มต้นจัดทำบัญชีของห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน และบริษัทจำกัดนั้น จะต้องเริ่มจากตรงไหนก่อน และทำอะไรบ้าง เป็นคำถามที่หลายท่านสงสัย ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการ หรือแม้แต่กระทั่งนักบัญชีมือใหม่เอง ก่อนอื่นเราทำความเข้าใจกันก่อนว่า ห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน และบริษัทจำกัด เป็นหนึ่งในผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชี ตาม กฎหมายพระราชบัญญัติการบัญชี พ.ศ. 2547 ซึ่ง พูดง่ายๆ ก็คือ กฎหมายบังคับให้พวกเราต้องจัดทำบัญชีนั่นเอง การเริ่มต้นจัดทำบัญชีของห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน และบริษัทจำกัดนั้น เริ่มต้นอย่างไร

1. บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนจะต้องจัดให้มีผู้ทำบัญชี
บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนจะต้องจัดให้มีผู้ทำบัญชี ซึ่งอาจจะเป็นพนักงานของกิจการเอง หรือ ผู้ทำบัญชีอิสระ หรือแม้กระทั่งสำนักงานบัญชี

– สำหรับเงื่อนไขของผู้รับทำบัญชี ต้องเป็นผู้ที่จบการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีทางการบัญชี หรือเทียบเท่า เว้นแต่ บริษัทจำกัดจะมีทุนจดทะเบียนไม่เกิน 5 ล้านบาท สินทรัพย์รวมไม่เกิน 30 ล้านบาท และรายได้รวมไม่เกิน 30 ล้านบาท สามารถให้ผู้ที่จบไม่ต่ำกว่าอนุปริญญาหรือ ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง ปวส. ทางการบัญชีหรือเทียบเท่า เป็นผู้ทำบัญชีได้ โดยนิติบุคคล ต้องควบคุมดูแลผู้ทำบัญชีให้จัดทำบัญชีให้ตรงต่อความเป็นจริงและเป็นไปตามมาตรฐานรายงานทางการเงิน

หลายท่านอาจสงสัยว่า ผู้ประกอบการสามารถเป็นผู้ทำบัญชีเองได้ไหม คำตอบคือ หากผู้ประกอบการมีความรู้ด้านบัญชี และเข้าเงื่อนไขเป็นผู้ทำบัญชี อาจเป็นผู้ทำบัญชีเองได้ แต่หาก ในกรณีที่ไม่มีความรู้ด้านบัญชีก็จะต้องจ้างผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญมาช่วยท่านทำงานนะคะ

2. ส่งมอบเอกสารประกอบการลงบัญชี
ส่งมอบเอกสารประกอบการลงบัญชี ไม่ว่าจะเป็น ใบเสร็จรับเงิน ใบกำกับภาษี หนังสือ หรือเอกสารใด ๆ ที่เป็นหลักฐานในการลงบัญชี จะต้องส่งให้แก่ผู้ทำบัญชี ประกอบการลงบัญชี ตามความเป็นจริง
– หากนิติบุคคลไม่ดำเนินการ ถือว่ามีความผิด ค่าปรับเป็นจำนวน 10,000 บาท

3. จัดทำบัญชีรายวัน บัญชีแยกประเภท บัญชีสินค้า และบัญชีอื่น ๆ
จัดทำบัญชีรายวัน บัญชีแยกประเภท บัญชีสินค้า และบัญชีอื่น ๆ ตามความจำเป็น โดยเริ่มตั้งแต่วันที่จดทะเบียน
– หลังจากจดทะเบียน เมื่อมีรายการทางบัญชีเกิดขึ้น ต้องบันทึกบัญชีลงในสมุดบัญชีรายวันก่อนที่จะผ่านไปบัญชีแยกประเภท ถ้าบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนใด มีสต๊อกสินค้าคงเหลือ จะต้องจัดทำบัญชีสินค้าด้วย
– สำหรับกิจการที่ไม่จัดทำบัญชี จะมีความผิด โดยปรับที่นิติบุคคล จำนวน 30,000 บาท และปรับเป็นรายวันจนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้อง วันละ 1,000 บาท ในส่วนของหุ้นส่วนผู้จัดการและกรรมการผู้จัดการซึ่งเป็นผู้กระทำการแทน ถูกปรับไม่เกิน 30,000 บาทรวมทั้งการปรับเป็นรายวันอีกไม่เกินวันละ 1,000 บาท

4. ต้องปิดบัญชีภายใน 12 เดือน นับแต่วันที่เริ่มทำบัญชี
ต้องปิดบัญชีภายใน 12 เดือน นับแต่วันที่เริ่มทำบัญชี ให้ปิดบัญชีทุกรอบ 12 เดือน นับแต่วันที่ปิดบัญชีครั้งก่อน โดยรอบบัญชีปีแรกหรือปีสุดท้าย อนุโลมให้ไม่ถึง 12 เดือนได้
– หากไม่จัดทำตามนี้ นิติบุคคล จะมีค่าปรับเป็นจำนวน 10,000 บาท ผู้กระทำการแทน จำนวน 10,000 บาท

5. การจัดทำงบการเงินตามมาตรฐานรายการทางการเงิน
การจัดทำงบการเงินตามมาตรฐานรายการทางการเงิน ผู้ทำบัญชี เมื่อบันทึกบัญชีครบทั้งหมดแล้ว สิ้นงวดปีบัญชี ต้องจัดทำงบการเงิน ประกอบด้วย งบแสดงฐานะการเงิน งบกำไรขาดทุน งบแสดงการเปลี่ยนแปลงส่วนของเจ้าของ และหมายเหตุประกอบงบการเงิน สำหรับห้างหุ้นส่วนจำกัดไม่ต้องจัดทำงบแสดงการเปลี่ยนแปลงส่วนของเจ้าของ
– สำหรับกิจการที่ไม่ดำเนินการตามนี้ นิติบุคคลปรับไม่เกิน 50,000 บาท และผู้กระทำการแทน ไม่เกิน 50,000 บาท สำหรับการจัดทำงบการเงิน ค่าปรับค่อนข้างสูงเพราะเป็นการส่งข้อมูลให้กับหน่วยงานภาครัฐ

6. งบการเงินต้องได้รับการตรวจสอบและข้อแสดงความเห็นจากผู้สอบบัญชีรับอนุญาต (CPA)
งบการเงินต้องได้รับการตรวจสอบและข้อแสดงความเห็นจากผู้สอบบัญชีรับอนุญาต (CPA) ยกเว้น ห้างหุ้นส่วนสามัญจดทะเบียนหรือห้างหุ้นส่วนจํากัด มีทุนจดทะเบียนไม่เกิน 5 ล้านบาท สินทรัพย์รวมไม่เกิน 30 ล้านบาท และรายได้รวมไม่เกิน 30 ล้านบาท ไม่จำเป็นต้องมีผู้สอบบัญชีรับอนุญาต (CPA) แต่ต้องจัดให้มีการตรวจสอบโดยผู้ตรวจสอบและรับรองบัญชีภาษีอากร (TA)
– ในเรื่องของความผิด ถ้ามีการจัดทำงบการเงินแต่ว่าไม่มีใครตรวจสอบ และนำส่ง จะถือว่านิติบุคคลมีความผิด ค่าปรับอยู่ที่ 20,000 บาทไม่เกินนี้ ผู้มีหน้าที่กระทำการแทน ปรับไม่เกิน 20,000 บาท

7. นำส่งงบการเงินที่ผ่านการตรวจสอบแล้ว ต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้าและยื่นภาษีต่อกรมสรรพากร
นำส่งงบการเงินที่ผ่านการตรวจสอบแล้ว ต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้าและยื่นภาษีต่อกรมสรรพากร
– ห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน นำส่งภายใน 5 เดือนนับตั้งแต่วันที่ปิดบัญชี
– บริษัทจำกัด นำส่งภายใน 1 เดือน นับแต่วันที่งบการเงินได้รับอนุมัติจากที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นสำหรับบริษัทจำกัดส่งได้ช้าสุด คือวันที่ 31 พฤษภาคม เนื่องจาก บริษัทจำกัดมีเงื่อนไข ที่บริษัทจะต้องประชุมสามัญผู้ถือหุ้นภายในวันที่ 30 เมษายน
– ในส่วนของความผิดถ้าไม่ดำเนินการ ค่าปรับไม่เกิน 50,000 บาท สำหรับนิติบุคคล และสำหรับผู้มีหน้าที่กระทำการแทน ปรับไม่เกินคนละ 50,000 บาท

8. เก็บรักษาเอกสารทางบัญชีไม่น้อยกว่า 5 ปี
เก็บรักษาเอกสารทางบัญชีไม่น้อยกว่า 5 ปี ทั้งเอกสารทางบัญชีและเอกสารประกอบการลงบัญชี ไว้ที่สำนักงานใหญ่ หรือสถานที่ที่ผลิต หรือเก็บสินค้าเป็นประจำ หรือสถานที่ทำงานประจำเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปี นับแต่วันที่ปิดบัญชี
– หากปิดบัญชีปี x0 จะต้องนับไปอีก x5 ปลายปี ถึงจะสามารถทำลายเอกสารเหล่านี้ได้ เอกสารบัญชีหรือเอกสารประกอบการลงบัญชีสูญหาย หรือเสียหาย ต้องแจ้งสารวัตรใหญ่บัญชี หรือสารวัตรบัญชีภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ทราบถึงการสูญหายหรือเสียหาย
– หากไม่ดำเนินการ มีความผิด ปรับไม่เกิน 5,000 บาท ผู้มีหน้าที่กระทำการแทนปรับไม่เกิน 5,000 บาท เช่นกัน

8 ข้อเบื้องต้น สำหรับการเริ่มต้นจัดทำบัญชี อย่าลืมทบทวนกันดีๆ เพราะหากเราพลาดข้อใดไปก็อาจโดนค่าปรับ ซึ่งค่อนข้างสูงเลยทีเดียว เพราะฉะนั้น การทำบัญชีเป็นเรื่องที่สำคัญมากสำหรับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนและบริษัท นอกจากป้องกันการโดนปรับแล้ว อย่าลืมว่าการทำบัญชียังมีประโยชน์ต่อทุกๆ กิจการ ช่วยให้เรามองเห็นผลประกอบการ ตลอดจนฐานะทางการเงินอีกด้วย’